‘เทโลเมียร์’ ศัพท์ไม่คุ้นหู แสนจะไกลตัว จริงๆ แล้วคือจิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของการชะลอวัย เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการกินอยู่หลับนอนและความเครียดส่งผลให้แก่ง่ายและตายเร็วได้จริงๆ
ตั้งแต่วัยมัธยม อาจด้วยความเป็นเด็กที่เรียนมาสายวิทยาศาสตร์ หมอจะตื่นเต้นเบาๆ ทุกครั้งเมื่อได้ยินการประกาศผลโนเบล โดยเฉพาะโนเบลสาขาทางการแพทย์ แต่ก็ต้องแอบยอมรับว่าหลายครั้งที่อ่านตามข่าวแล้วไม่เข้าใจว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์อัจฉริยะเหล่านี้ค้นพบคืออะไร แล้วมันจะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราได้ยังไง รู้แต่ว่ามันคงยิ่งใหญ่ล่ะน่า ก็ขึ้นชื่อว่า Nobel Prize มันต้องไม่ธรรมดา แม้ว่าจะฟังดูไกลตัวจัง
ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดจากวัยมัธยมมาจนถึงปัจจุบัน ความสนใจใคร่รู้ในข่าวสารเกี่ยวกับรางวัลโนเบลยังคงมีอยู่ แต่ที่ต่างไปคือความรู้ที่เพิ่มขึ้นตามการเรียนและการอ่านสะสม จึงมีความสนุกไปอีกแบบเมื่อคิดตามว่าแก่นความรู้ที่ถูกค้นพบจนได้รางวัลโนเบลนั้นนำมาปรับใช้ใกล้ตัวได้มากน้อยเพียงใด อย่างโนเบลปี 2009 ซึ่ง ดร.อลิซาเบธ แบล็กเบิร์น และเพื่อน เป็นผู้ค้นพบความสำคัญของ ‘เทโลเมียร์’ และเอ็นไซม์เทโลเมอเรส
เทโลเมียร์
แค่ชื่อ 3 พยางค์ แต่ก็ชวนให้งงและระคายหูได้ไม่น้อย สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาสายวิทยาศาสตร์ ‘เทโลเมียร์’ คือส่วนปลายของสายดีเอ็นเอ หากเปรียบสายดีเอ็นเอซึ่งบรรจุรหัสพันธุกรรมของคนเราไว้เป็นเชือกผูกรองเท้ายาวๆ เทโลเมียร์ก็เปรียบเสมือนส่วนพลาสติกที่หุ้มปลายไม่ให้เชือกรองเท้าหลุดรุ่ยและพังก่อนเวลาอันควร ซึ่งบทบาทสำคัญของมันก็ไม่ต่างกับปลอกพลาสติกนั้น นั่นคือปกป้องสายดีเอ็นเอเพื่อให้เซลล์ยังคงแบ่งตัวและถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมต่อไปได้อย่างปกติ
แบล็กเบิร์นพบว่าเทโลเมียร์ของแต่ละคนตั้งต้นมาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมเชื้อชาติ แต่เทโลเมียร์ของเราทุกคนล้วนหดสั้นลงแปรผกผันกับอายุที่มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่ายิ่งแก่ เทโลเมียร์ยิ่งสั้น
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่าคือเทโลเมียร์ของเราต่างหดสั้นเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ชีวิต อาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา การนอน รวมไปถึงบุคลิกและวิธีที่เราใช้ในการตอบสนองต่อปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการหดสั้นของเทโลเมียร์
และเมื่อเทโลเมียร์หดสั้นถึงจุดหนึ่ง เซลล์ของเราจะเข้าสู่ภาวะแก่และพร้อมจะเจ็บป่วย ซึ่งแบล็กเบิร์นให้คำจำกัดความว่าเป็นช่วง ‘Disease Span’ อาจแปลเป็นไทยได้ง่ายๆ ว่า ช่วงชีวิตที่เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ
‘The Means to the End’ คือชื่อหัวข้อที่แบล็กเบิร์นใช้ในการกล่าวสุนทรพจน์ตอนรับรางวัลโนเบล เพราะเธอได้ค้นพบความหมายของรหัสพันธุกรรมที่สุดปลายสายของดีเอ็นเอ และเธอก็เชื่อว่าหากเรารู้วิธีที่จะรักษาความยาวของเทโลเมียร์ไว้ได้จะช่วยชะลอภาวะเซลล์แก่ และนำมาสู่จุดจบของความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่จะมาเยือนก่อนวัย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ เบาหวาน และอื่นๆ
สรุปว่าเทโลเมียร์ คำศัพท์ไม่คุ้นหูที่ดูเป็นเรื่องโนเบลแสนจะไกลตัว จริงๆแล้วคือจิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของการชะลอวัย เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการกินอยู่หลับนอนและความเครียดส่งผลให้แก่ง่ายและตายเร็วได้จริงๆ และเราเองมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อที่จะให้ร่างกายอยู่ในสภาพไหนยามแก่นั่นเอง
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
แนะให้อ่าน
Comments