top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ถังข้อมูล อาวุธสำคัญของอิสราเอลในการรับมือโควิด-19


  • พื้นฐานโครงสร้างระบบสาธารณสุขของอิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกนี้ ที่วางระบบเชื่อมต่อข้อมูลของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภายในประเทศทั้งหมดไว้เป็นระบบเดียวกัน เป็น Health Information Exchange Platform ที่มีข้อมูลการวินิจฉัย การรักษา การผ่าตัด ประวัติการแพ้ยา รวมถึงการฉีดวัคซีนต่างๆ จากทุกโรงพยาบาล ถูกจัดเก็บไว้ในระบบเดียวกัน และ 98% ของประชากรมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด

  • ในส่วนของการบริหารวัคซีน อิสราเอลใช้ข้อมูลในถังเพื่อการจัดกลุ่มเสี่ยง เรียงลำดับการฉีดวัคซีนได้เหมาะสม และง่ายต่อการวางแผนกระจายวัคซีน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงในชุมชนต่างๆ

  • ความสำเร็จของอิสราเอลในเรื่องการจัดการกับโควิด-19 จึงเป็นความสำเร็จที่มาจากการวางแผนบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาลที่อยู่กันคนละถัง อิสราเอลสามารถทำลาย Data Silos และนำข้อมูลแต่ละถังมาเชื่อมต่อกันได้ จนกลายมาเป็นถังข้อมูลใบใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคที่ ‘ข้อมูลคือขุมสมบัติ’

วิกฤตโควิด-19 นั้น เปรียบเสมือนการจับระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศมาทำ Exercise Stress Test หรือ วิ่งสายพาน ทดสอบความฟิตว่าระบบการบริหารจัดการ และทรัพยากรที่มีอยู่นั้นจะรับมือกับปัญหาได้ดีมากน้อยแค่ไหน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

หนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ารับมือกับปัญหาโควิด-19 ได้ดี คือ อิสราเอล จากข้อมูลในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ ได้มีการฉีดวัคซีนครบสองโดสไปแล้ว 56% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจัดว่าสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก

หมอเองได้มีโอกาสฟังเบื้องหลังความสำเร็จของการจัดการกับปัญหาโควิด-19 ในอิสราเอล ผ่านการประชุม Med in Israel ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลอิสราเอล เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพในสาขาการแพทย์ ให้มีโอกาสระดมทุนและขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หมอเคยมีโอกาสบินไปร่วมประชุมที่เทลอาวีฟในปีก่อนๆ ต้องยอมรับว่าบรรยากาศงานคึกคักมาก ปีนี้ Med in Israel เปลี่ยนมาจัดทางออนไลน์ซึ่งอาจคึกคักน้อยลง แต่ก็มีความรู้อัดแน่นจากหลายฝ่าย ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือวิกฤตโควิด-19 นี้

เมืองเยลูซาเลม ประเทศอิสราเอล


ความสำเร็จของวัคซีนแคมเปญในอิสราเอลนั้นมาจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่เห็นได้ชัด และคนส่วนใหญ่พูดถึงคือ ความเก่งในการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ปิดดีลกับทั้ง Pfizer และ Moderna ได้เร็ว อีกทั้งยังป๋าและรวยพอที่จะยอมจ่ายค่าวัคซีนในราคาแพง เพื่อให้ได้ยามาก่อนเป็นล็อตแรกๆ แต่การได้ยามาเร็วนั้น หากไม่มีระบบวางแผนบริหารจัดการยาที่ดีก็อาจไม่มีประโยชน์นัก

ปัจจัยสำคัญต่อมาจึงอยู่ที่พื้นฐานโครงสร้างระบบสาธารณสุข อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกนี้ ที่วางระบบเชื่อมต่อข้อมูลของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภายในประเทศทั้งหมดไว้เป็นระบบเดียวกัน เป็น Health Information Exchange Platform ที่มีข้อมูลการวินิจฉัย การรักษา การผ่าตัด ประวัติการแพ้ยา รวมถึงการฉีดวัคซีนต่างๆ จากทุกโรงพยาบาล ถูกจัดเก็บไว้ในระบบเดียวกัน และ 98% ของประชากรมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด

การมีระบบจัดการข้อมูลที่ดี ส่งผลให้อิสราเอลจัดการกับคลื่นลูกที่หนึ่งและสองของโควิด-19 ด้วยการติดตามและค้นหาเคสที่มีความเสี่ยง และเข้าตรวจเชิงรุกเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อได้เร็ว


ในส่วนของการบริหารวัคซีน อิสราเอลใช้ข้อมูลในถังเพื่อการจัดกลุ่มเสี่ยง เรียงลำดับการฉีดวัคซีนได้เหมาะสม และง่ายต่อการวางแผนกระจายวัคซีน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงในชุมชนต่างๆ และแน่นอนว่าคิดแบบอิสราเอลต้องไม่คิดเพียงต่อเดียว แต่พวกเขายังคิดต่อยอดไปอีกว่า หากฉีดวัคซีนแล้วสามารถทำงานวิจัยเพื่อหาประสิทธิภาพของวัคซีนไปด้วยพร้อมกันเลย น่าจะเป็นประโยชน์สองต่อ จึงนำมาสู่งานวิจัยร่วมกับ Pfizer เพื่อหาประสิทธิภาพของวัคซีนจากการฉีดจริงนอกห้องทดลอง (Real-World Effectiveness) โดยใช้ฐานข้อมูลดิจิทัล จับคู่หา Digital Twin ที่มีอายุ เพศ โรคประจำตัว และปัจจัยทางสุขภาพเหมือนๆ กัน เปรียบเทียบระหว่างคนที่ได้รับการฉีดแล้ว กับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีด พบว่าการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการตายจากโควิดได้ถึง 96.7%


การมีคลังข้อมูลสุขภาพของคนทั้งประเทศอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันนี้ ไม่ได้มีประโยชน์แค่การดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ยังมีประโยชน์มากในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอด ซึ่งทางอิสราเอลได้ทำมาหลายปีแล้ว โดยมีการนำข้อมูลในแพลตฟอร์มมาทำการ Deidentify ข้อมูล คือล้างข้อมูลให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ แล้วนำมาใช้ในงานวิจัยโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการรักษาแบบ Precision Medicine และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำมาซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในหลายสาขาการแพทย์ เช่น AI ที่ค้นหาความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่จากผลการตรวจเม็ดเลือดในการตรวจร่างกายประจำปี

ความสำเร็จของอิสราเอลในเรื่องการจัดการกับโควิด-19 จึงเป็นความสำเร็จที่มาจากการวางแผนบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาลที่อยู่กันคนละถัง อิสราเอลสามารถทำลาย Data Silos และนำข้อมูลแต่ละถังมาเชื่อมต่อกันได้ จนกลายมาเป็นถังข้อมูลใบใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคที่ ‘ข้อมูลคือขุมสมบัติ’


สำหรับไทยเราเองนั้น ข้อมูลสุขภาพยังอยู่ในลักษณะ Data Silos ต่างโรงพยาบาล ต่างถังข้อมูล ขาดการเชื่อมต่อไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน แม้จะมีความพยายามของหลายหน่วยงานในการทำระบบ HIE ของประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในระยะเตาะแตะที่ยังคงต้องฟูมฟักและฟันฝ่ากันต่อไป

ปกติแล้วเมื่อคนไข้ได้รับการตรวจ Exercise Stress Test เสร็จสิ้น จะมีการวางแผนการรักษาจากหมอ ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรต่อไป หวังว่าเมื่อประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเปรียบดั่ง Stress Test นี้ไปแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของสาธารณสุขไทย จะนำผลการทดสอบนี้มาพัฒนาระบบ วางแผนการรักษาประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเรากลับมาแข็งแรง และพร้อมต่อสู้กับวิกฤตโควิด19 ระลอก 4, 5 หรือ 6 รวมถึงโรคใหม่ๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่อไปในอนาคต

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

www.instagram.com/thidakarn อ้างอิง:

Comments


bottom of page