top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

DEEP หลับเป็น ไม่หลับตาย

เมื่อคืนหมอได้มีโอกาสดูหนังไทยบน Netflix เรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่เป็นครั้งแรกที่งานของนักศึกษาไทย ได้ขึ้นฉายบนแพลทฟอร์มระดับโลก เป็นนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเป็นงานแนวระทึกขวัญกึ่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสไตล์หนังที่หมอชอบ


หนังเล่าเรื่องราวของนักศึกษาแพทย์ 4 คน ที่เข้าร่วมงานวิจัยลับ ที่ต้องรับสารคิวราโทนินเข้าสู่ร่างกาย (ชื่อสมมติ ดัดแปลงมาจากสารสื่อสมอง เมลาโทนิน) และจะได้เงินก้อนใหญ่ ถ้าไม่หลับเลยระหว่างการทดลอง และหากพลาดเผลอหลับไป จะอันตรายถึงชีวิตได้!


อาการนอนไม่หลับ หรือ Insomnia นั้น หมายถึงการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 เดือน และส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตในเวลากลางวัน โดยที่อาการนอนไม่หลับนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากยาหรือโรคอื่นๆ เคยมีงานวิจัยยุคก่อนโควิดพบว่า มีคนต้องเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับราว 6-10% เชื่อว่าตัวเลขน่าจะมากกว่านั้นในช่วงเวลานี้


การนอนไม่หลับ หรือ นอนหลับแต่สถานการณ์บังคับให้ไม่ได้นอนนั้น ส่งผลเสียกับร่างกายหลายระบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่สมอง น้ำหนักตัว ผิวพรรณ ไล่ลึกไปจนถึงความแก่ในระดับเซลล์


เมื่อเราอดนอน 24 ชั่วโมง

การทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนความจำ การตัดสินใจ จะเริ่มแย่ลง อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้น เทียบเท่ากับคนเมาที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.10%


เมื่อเราอดนอน 36 ชั่วโมง

จะเริ่มมีนเวียนศีรษะมากขึ้น มีสารก่อการอักเสบในระดับเซลล์สูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ


เมื่อเราอดนอน 48 ชั่วโมง

หรือสองวันติดกัน ร่างกายจะเริ่มกอบกู้สถานการณ์ด้วยการสั่งให้หลับ แม้ในระยะเวลาสั้นๆ เรียกว่า Microsleeps หรือการเผลอหลับโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลาสั้นๆระดับวินาที ตามมาด้วยอาการสับสนและขาดสติ


เมื่อเราอดนอน 72 ชั่วโมง

เป็นจุดที่สมองเริ่มสับสนจนเห็นภาพหลอน!!


เคยมีคนมากมายพยายามทำสถิติอดนอนให้ได้นานที่สุดในโลก โดยสถิติสูงสุดอยู่ที่ 18 วัน 21 ชั่วโมง 41 นาที ซึ่งมาพร้อมอาการภาพหลอน ตาเบลอ พูดไม่รู้เรื่อง สมองไม่สามารถโฟกัสหรือทำงานเป็นปกติได้


ส่วนการนอนไม่พอเรื้อรัง รวมถึงการเลื่อนเวลานอนไปมานั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมากมาย ทั้งความจำเสื่อม อ้วนลงพุง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ ไปจนถึงมะเร็งต่างๆ


หากเปรียบการนอน เป็นการเดินทางไปยังโลกคู่ขนานอันมืดมิดยามค่ำคืน สำหรับบางคนแล้ว การเดินทางเข้าสู่โลกแห่งการนอนนั้นเป็นเรื่องยากเย็น โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น มีความเครียดมากขึ้น หรือใช้ยานอนหลับมายาวนานขึ้น ยิ่งทำให้การเดินทางเข้าสู่โลกแห่งการนอนยากขึ้นทุกที


หลักการสำคัญอยู่ที่ การให้เวลากับช่วงเปลี่ยนผ่านจากโลกแห่งการตื่น ไปยังโลกแห่งการนอน โดยอาจกำหนดเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนเวลาที่ตั้งใจจะนอน ให้เป็นเวลา “เตรียมนอน”


วิธีแก้อาการนอนไม่หลับ

  • อาบน้ำอุ่นๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

  • ปิดโทรทัศน์ โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และหน้าจออิเล็คโทรนิกต่างๆ เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอเหล่านี้ ยับยั้งการหลั่งของเมลาโทนิน ฮอร์โมนแห่งการนอน

  • หรี่ไฟในห้องนอนให้สลัว ไม่ควรเปิดไฟสว่าง โดยเฉพาะไฟนีออนแสงขาว

  • หยุดคิดเรื่องงาน หันมาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ(เนื้อหาไม่เครียดและไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน)

  • ขอความร่วมมือจากสามี,ภรรยา,คู่รัก,รูมเมท ให้สนับสนุนช่วงเวลาเตรียมนอนของคุณ


ในโลกของภาพยนตร์ นักศึกษาแพทย์ทั้งสี่ใน DEEP เล่นกับเกมส์ไม่นอนหลับ เพื่อแลกกับเงินรางวัล และต้องเสี่ยงกับการเสียชีวิตหากเผลอหลับไป


ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นตรงข้ามค่ะ หากเรานอนหลับพักผ่อนเพียงพอ คือการให้รางวัลกับร่างกาย และหากเราฝืนไม่ยอมหลับ ความเสี่ยงที่จะตายกลับเพิ่มขึ้น

หลับเป็น ไม่หลับตาย


คืนนี้มานอนหลับแบบ DEEP กันนะคะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


Ref.

Orzeł-Gryglewska J. Consequences of sleep deprivation. Int J Occup Med Environ Health. 2010;23(1):95-114. doi: 10.2478/v10001-010-0004-9. PMID: 20442067.

DEEP

Comments


bottom of page