top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ทำไมโรคอ้วน จึงเพิ่มความเสี่ยงทรุดหนักจากโควิด-19

โควิด19 โรคร้ายที่พวกเรากำลังต่อสู้อยู่นั้น มีอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ในขณะที่บางประเทศมีอัตราการเสียชีวิตสูงเกือบ 10% (ฝรั่งเศส อังกฤษ) บางประเทศก็สามารถกดจนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ต่ำกว่า 2% (อิสราเอล รัสเซีย) ด้วยปัจจัยหลายด้าน


ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยโควิด19 มีอาการทรุดหนัก หรือเสี่ยงเสียชีวิต คือ

อายุ งานวิจัยพบว่ากว่า 75% ของผู้เสียชีวิตมีอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และมะเร็งต่างๆ


โรคอ้วน

ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงทรุดหนักจากโควิด19 โดยเฉพาะคนอายุน้อย หากมีโรคอ้วน คือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ความเสี่ยงที่จะทรุดหนักหรือเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นมาก


บางคนอาจสงสัยว่าความอ้วนเกี่ยวอะไรกับโควิด19 สาเหตุที่โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงทรุดหนักจากโควิด19นั้น มีงานวิจัยที่อธิบายว่ามาจากกลไกหลักๆคือ


ระบบภูมิคุ้มกันหรือทหารที่ไม่แข็งแรง โดยเฉพาะทหารประเภท T-cells อันเป็นผลจากภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินและฮอร์โมนเลปตินเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะที่พบในคนเป็นโรคอ้วน พบว่าความอ้วนส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแก่กว่าที่ควรจะเป็นตามช่วงอายุ


การอักเสบเรื้อรังในระดับโมเลกุล ซึ่งเป็นการอักเสบในระดับต่ำๆที่ไม่มีอาการแต่เกิดขึ้นตลอดเวลาในผู้ป่วยโรคอ้วน โดยสามารถวัดได้จากสารก่อการอักเสบต่างๆในเลือดเช่น TNF-α, IL-1β, IL-6 เมื่อถูกสมทบด้วยการอักเสบเฉียบพลันจากโควิด19 จึงส่งผลให้มีปฏิกิริยาอักเสบที่รุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการทรุดหนักมากขึ้น


การมีประตูที่เปิดรับเชื้อไวรัสมากขึ้น เซลล์ในเยื่อบุจมูก ทางเดินหายใจ และหลายอวัยวะในร่างกายจะมี ACE-2 receptor ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นประตูทางเข้าเซลล์ของไวรัส SARS-COV-2 พบว่าในผู้เป็นโรคอ้วนจะมีประตูนี้มากขึ้นกว่าคนทั่วไป จึงอาจเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ส่งผลให้ไวรัสบุกสะดวก


ในคนที่เป็นโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันง่ายขึ้น ซึ่งการเกิดลิ่มเลือดเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด19 ทรุดหนักขึ้น

ความอ้วน จัดเป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการทรุดหนักและเสียชีวิตจากโควิด19ด้วย สำหรับคนที่อยากห่างไกลจากโรคอ้วน แนะนำให้ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ด้วยการเข้าใจหลักการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เลี่ยงการรับประทานน้ำตาลที่มากเกินไปจากเครื่องดื่ม ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการกำลังใจในการลดน้ำหนัก สามารถติดต่อหมอได้ทางทวิตเตอร์ @thidakarn หรือฝากข้อความมากับแอดมินของเพจ PleasehealthBooks ก็ได้เช่นกันค่ะ


เป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันค่ะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


References

1. Mohammad, S., Aziz, R., Al Mahri, S. et al. Obesity and COVID-19: what makes obese host so vulnerable?. Immun Ageing 18, 1 (2021). https://doi.org/10.1186/s12979-020-00212-x

2. Lockhart, Sam M, and Stephen O'Rahilly. “When Two Pandemics Meet: Why Is Obesity Associated with Increased COVID-19 Mortality?.” Med (New York, N.Y.) vol. 1,1 (2020): 33-42. doi:10.1016/j.medj.2020.06.005

Comments


bottom of page