top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

Romantic Competence สกิลที่โรงเรียนลืมสอน

Competence = The ability to do something well

Opposite: Incompetence

– Cambridge Dictionary

  • Romantic Competence คือความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจให้ราบรื่นและยืนยาวได้ (Healthy Relationship) เป็นคำสายเนิร์ดกึ่งจั๊กจี้ที่ถูกนิยามโดย โจแอนน์ ดาวิลา (Joanne Davila) และทีม ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Personal Relationships เมื่อปี 2017

  • โดยหลักการทั่วไปแล้ว ขั้นตอนในการพัฒนา Competence หรือสกิลในด้านต่างๆ นั้น เริ่มต้นจากความรู้ว่าตัวเองไม่รู้หรือเห็นในจุดบอดของตัวเองก่อน จึงจะนำไปสู่การรู้ว่าต้องเรียนรู้อะไรเพื่อพัฒนา

‘Competence’ เป็นคำที่เรามักใช้กันบ่อยๆ เมื่อพูดถึงความสามารถในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความสามารถในการทำงาน แล้วความสามารถในการ ‘รัก’ ใครสักคนล่ะ จะมีคำจำกัดความและมาตรวัดไหม?

Romantic Competence คือความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจ ให้ราบรื่นและยืนยาวได้ (Healthy Relationship) เป็นคำสายเนิร์ดกึ่งจั๊กจี้ที่ถูกนิยามโดย โจแอนน์ ดาวิลา (Joanne Davila) และทีม ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Personal Relationships เมื่อปี 2017

ชีวิตรักที่ดีมาจากสองปัจจัยหลักคือ ความรู้สึกปลอดภัยและสุขใจของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์รักทั้งสองฝ่าย (หากมีมากกว่าสองฝ่าย มักยากที่จะลงเอยได้ดี) ซึ่งการมีชีวิตคู่ที่ดีนี้ส่งผลต่อชีวิตในหลายๆ ด้าน งานวิจัยดังจาก Harvard ที่ใช้เวลาเกือบ 80 ปีในการหาคำตอบว่าอะไรคือกุญแจสำคัญของความสุขในชีวิต พบว่า ชีวิตคู่ที่สงบสุขคือหนึ่งในปัจจัยหลัก นอกจากความสุขใจแล้ว ชีวิตคู่ที่ดียังนำไปสู่ความสุขกาย ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยชะลอวัย และเพิ่มอายุขัยเฉลี่ย แต่ชีวิตรักที่ดีไม่ใช่สิ่งที่กำหนดเอง จุดธูปไหว้เจ้าขอ หรือหาซื้อกันได้ออนไลน์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะสกิลที่เรียกว่า Romantic Competence ซึ่งประกอบไปด้วยสามก้อนใหญ่

ก้อนแรกคือ Insight หรือความสามารถในการเข้าใจหัวใจของตัวเอง เข้าใจว่าแท้จริงแล้วหัวใจเราให้คุณค่ากับอะไรในชีวิต คำพูดที่ออกมาจากปากนั้นเกิดจากปมอะไรที่อยู่ในใจ ทำไมถึงแสดงออกในแบบนั้น รวมไปถึงเข้าใจความต้องการลึกๆ ที่อยู่ในใจคู่รักของเรา เพราะการแสดงออกของคนเรานั้นเปรียบเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่ความรู้สึกลึกๆ ที่เป็นผลให้แสดงออกมานั้นคือภูเขาน้ำแข็งก้อนใหญ่ที่ซุกตัวซ่อนอยู่ในน้ำที่เปรียบดั่งจิตใต้สำนึก คนที่เข้าใจ Insight ของตัวเองและผู้อื่นได้ดีจะเข้าใจและควบคุมการแสดงออกได้ดีกว่าคนที่ไม่เข้าใจ


ก้อนต่อมา Mutuality คือความใส่ใจในความต้องการของคู่ และพยายามหาจุดร่วมในความต่างที่ลงตัวที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายเสมอ เพราะในชีวิตคู่นั้นไม่มีทางที่สองฝ่ายจะเห็นไปในทิศทางเดียวกันตลอด แต่การหาจุดร่วมในความต่างได้ คือส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตคู่คงอยู่ต่อไปอย่างสงบสุข

และก้อนสุดท้ายที่หลายคนคุ้นเคยดีคือ Emotion Regulation หรือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ปรี๊ดเมื่อมีข้อขัดข้องในชีวิตคู่ เพราะอารมณ์รุนแรงที่แสดงออกไปนั้นเปรียบเสมือนตะปูที่ตอกลงบนแผ่นไม้ แม้จะขอโทษเมื่ออารมณ์เย็นลงได้ แต่ตะปูที่ถูกถอนไปนั้นยังคงทิ้งร่องรอยบนแผ่นไม้ไปตลอดกาล ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยเรื่องราวลิ้นกับฟันของป๋อมและแป๋ม

ป๋อม: เธอๆ เย็นนี้จัดหมูกระทะกันไหม

แป๋ม: จะดีเหรอ ก็อยากกินนะ แต่เราอ้วนแล้ว กินปลาดิบดีกว่าไหม

ป๋อม: ก็ไม่อ้วนนะ กินหมูกระทะเถอะ เราอยากกิน ตามใจเราหน่อยนะ

แป๋ม: ถ้าอย่างนั้นตอบก่อนว่าหน้าเรากลมไหม บอกมาตามตรง

ป๋อม: อืม…ก็นิดหนึ่ง ช่วงหลังนี้เธอคางสองชั้นนะ

แป๋ม: ใจร้ายยย! ไปกินคนเดียวเลย กลับบ้านแล้ว บาย

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว Insight หรือความในใจที่แป๋มต้องการจากคำถามเรื่องอ้วนหรือหน้ากลม ไม่ใช่คำตอบว่าอ้วนหรือไม่อ้วน แต่เป็นคำยืนยันว่าไม่อ้วนและหน้าไม่กลม เพื่อที่จะได้ร่วมปาร์ตี้หมูกระทะได้แบบไม่รู้สึกผิด

ส่วนป๋อมเองก็ขาด Mutuality ที่จะยอมเปลี่ยนแผนเป็นทางเลือกที่อ้วนน้อยกว่าหมูกระทะ ทั้งที่รู้ว่าแฟนกำลังกังวลเรื่องน้ำหนัก

และแป๋มก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อคำตอบที่ได้รับไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง นำมาสู่การทะเลาะกันจากเรื่องที่ไม่ได้เป็นเรื่องสักเท่าไร (ซึ่งเรื่องส่วนใหญ่ที่คู่รักทะเลาะกันมักตั้งต้นมาจากความไม่เป็นเรื่อง)

Poor insight, Lack of mutuality, Poor emotion regulation จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และกัดกร่อนความสัมพันธ์เรื้อรังในคนที่มี Romantic Competence ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

โดยหลักการทั่วไปแล้ว ขั้นตอนในการพัฒนา Competence หรือสกิลในด้านต่างๆ นั้น เริ่มต้นจากความรู้ว่าตัวเองไม่รู้ หรือเห็นในจุดบอดของตัวเองก่อน จึงจะนำไปสู่การรู้ว่าต้องเรียนรู้อะไรเพื่อพัฒนาความสามารถในด้านนั้นๆ

หมอเองเพิ่งจะได้รู้จักกับ Romantic Competence จึงได้รู้ว่าสกิลในด้านนี้ของตัวเองยังต้องพัฒนาอีกมาก เข้าใจมาตลอดว่าเป็นเรื่องของโชค เพราะเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่า Lucky in game, Unlucky in love เพิ่งค้นพบความจริงวันนี้เองว่าไม่ใช่เรื่องของโชค แต่เป็นเพราะ Incompetence ในความรักโรแมนติกนี่เอง

ก็ไม่เคยมีวิชา Romantic Competence ให้ได้ลงเรียนนี่นา…

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


ภาพ: Courtesy of New Line Cinema

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Davila, Joanne, et al. ‘Romantic competence, healthy relationship functioning, and well‐being in emerging adults.’ Personal Relationships 24.1 (2017): 162-184.

Comments


bottom of page