top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

ไม่อยากแก่ ต้องกินหญ้าอ่อน

Writer: Thidakarn RujipattanakulThidakarn Rujipattanakul
วัวแก่กินหญ้าอ่อน เป็นสุภาษิตไทยที่หมายถึง คนมีอายุซึ่งมาได้แฟนเด็กกว่ามาก

ส่วนไม่อยากแก่ ต้องกินหญ้าอ่อน ที่หมอจะมาชวนคุยในวันนี้ คือเรื่องของต้นอ่อนผักต่างๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Sprouts ซึ่งเป็นของดีที่หลายคนมองข้ามไป

Sprouts คืออะไร

Sprouts คืออะไร

Sprouts คือ ต้นอ่อนของพืชผักต่างๆ รวมถึงธัญพืชและถั่ว ตัวอย่างที่คนไทยเรารู้จักกันดีคือ ถั่วงอกหรือต้นอ่อนถั่วเขียว ส่วนถั่วงอกหัวโต(ที่หมอว่ากินง่ายและเหม็นคาวน้อยกว่า)เป็นต้นอ่อนของถั่วเหลือง


ส่วนที่มาฮิตในระยะหลังคือ ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนข้าวสาลีหรือวีทกราส ไควาเระหรือต้นอ่อนหัวไชเท้า และโต้วเหมียวซึ่งเป็นต้นอ่อนถั่วลันเตา ในต่างประเทศต้นอ่อนที่ได้รับความนิยมคือ อัลฟาฟ่า ต้นอ่อนบร็อคโคลี่ ต้นอ่อนกะหล่ำดาว ต้นอ่อนแรดดิชแดง รวมถึงต้นอ่อนเคล ต้นอ่อนเป็นระยะที่พืชอัดแน่นด้วยสารอาหารและพลังงานเพื่อพร้อมเจริญเติบโต


Sprouts ผลดีต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

  • เป็นแหล่งของโปรตีนดี มีกรดอะมิโนที่ร่างกายพร้อมดูดซึมนำไปใช้ พบว่าโปรตีนจากพืชช่วยในการคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดีกว่าโปรตีนจากสัตว์

  • อัดแน่นด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะต้นอ่อนกะหล่ำดาวและต้นอ่อนเคล ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านมะเร็งในกลุ่ม Glucosinolates และ Phenolics สูง

  • มีเส้นใยอาหารสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนอยากลดน้ำหนัก


ต้นอ่อนผักสามารถรับประทานได้ทั้งแบบดิบและปรุงสุก แต่ถ้าจะรับประทานแบบดิบ ต้องระวังการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ เพราะสภาพความชื้นและสารอาหารที่อัดแน่นในต้นอ่อน ทำให้ต้นอ่อนเป็นที่ชื่นชอบของแบคทีเรียต่างๆเช่นกัน จึงต้องนำมาล้างให้สะอาด หรือปรุงให้สุกโดยผ่านความร้อนจะปลอดภัยกว่า


เมื่อเทียบกับสารอาหารที่อัดแน่นแล้ว ต้นอ่อนแบบไทยๆจัดว่าราคาไม่แพง แต่ต้นอ่อนแบบฝรั่งอาจจะราคาสูงและหาซื้อยากไปนิด สำหรับคนที่มีฝีมือทางการเกษตร แนะนำว่าซื้อเมล็ดมาเพาะเองได้ไม่ยาก ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องการพื้นที่ใหญ่โตในการเพาะปลูก


ไม่อยากเป็นวัวแก่กินหญ้าอ่อน ต้องหมั่นกินต้นอ่อน วัวจะได้ไม่แก่นะคะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


Ref.

1. Abellán, Ángel, et al. "Sorting out the value of cruciferous sprouts as sources of bioactive compounds for nutrition and health." Nutrients 11.2 (2019): 429.

2. Mena, Pedro, and Donato Angelino. "Plant Food, Nutrition, and Human Health." (2020): 2157.

Comments


bottom of page