“คุณหมอครับ ผักดองเสี่ยงมะเร็งโพรงจมูกจริงไหมครับ”
น่าสนใจมากค่ะ ตอนที่อ่านคำถามยอมรับว่า จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า มีงานวิจัยเรื่องผักกาดดองกับมะเร็งหลังโพรงจมูกอยู่หลายงาน แต่จำไม่ได้ว่าเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน จึงกลับไปทำการบ้านรีวิวงานวิจัยในประเด็นนี้ ได้คำตอบที่ชวนรู้และชวนแชร์ดังนี้ค่ะ
มีงานวิจัยจากทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ที่พบว่าการรับประทานผักกาดดอง(เกี้ยมฉ่าย)บ่อยเกินไป (สัปดาห์ละครั้ง) เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลังโพรงจมูกราว 4 เท่า คาดว่าจากปริมาณเกลือที่สูง และสารก่อมะเร็ง N-nitrosodimethylamine ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการหมักดอง
ส่วนผักดองฝั่งเกาหลีอย่างกิมจิ(ซึ่งเป็นอาหารโปรดของแม่บ้านสายแดจังกึมอย่างหมอ) มีวิจัยจากฝั่งเกาหลีเช่นกันว่า การรับประทานมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากปริมาณเกลือที่สูง และสารก่อมะเร็งมะเร็ง N-nitrosodimethylamine
แต่กิมจินั้น มีบางงานวิจัยคัดค้านว่า เมื่อกิมจิถูกเก็บรักษาไว้นานเกินกว่า 20 วัน ปริมาณสารก่อมะเร็งจะลดลง เพราะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียดีบางกลุ่ม และกิมจิเองยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นข้อดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งของแบคทีเรียดี(โปรไบโอติก) ที่มีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและการเผาผลาญ รวมถึงผลดีต่อระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด
สรุปว่า
ผักกาดดองและกิมจินั้น ไม่ต่างจากอาหารหลายๆประเภท ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หลักสำคัญน่าจะอยู่ที่ทางสายกลาง รับประทานแต่พอประมาณและหลากหลาย สำหรับคนที่ชอบรับประทานกิมจิมาก แต่กังวลเรื่องสุขภาพ แนะนำว่าลองหากิมจิแบบ low-salt (มียี่ห้อดังในเกาหลีทำขาย) หรือทดลองดองกิมจิแบบเกลือต่ำรับประทานเอง อาจจะอร่อยถูกปากกว่า และไม่ต้องเสี่ยงรับประทานเกลือโซเดียมมากเกินไปด้วยนะคะ หมอก็ว่าจะทดลองทำอยู่เหมือนกันค่ะ 😊
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Ref.
1.Yong, Sook Kwin, et al. "Associations of lifestyle and diet with the risk of nasopharyngeal carcinoma in Singapore: a case–control study." Chinese journal of cancer 36.1 (2017): 3.
Comments