top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

KUCHISABISHII - เหงาปากต้องแก้ที่ใจ

คุชิซาบิชี่ เป็นคำที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียกอาการกินเพราะเหงา หรือที่เรียกภาษาบ้านเราว่า “เหงาปาก” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเหงารูปแบบหนึ่งที่พบได้บ่อย ถ้าอาการเหงาปากนั้นเกิดนานๆที และไม่ได้ส่งผลให้เรากินมากจนเสียสุขภาพแล้วมารู้สึกผิดภายหลัง แบบที่เรียกว่า “Binge eating” การกินบ้างยามเหงา ก็ไม่จัดว่าผิดอะไรค่ะ


สำหรับคนที่ติดกินเพราะเหงาบ่อยครั้ง จนเริ่มส่งผลกระทบถึงสุขภาพและรอบเอว อยากจะแก้ไขอาการคุชิซาบิชี่นี้ หมอมีคำแนะนำมาฝากดังนี้ค่ะ


📌 เมื่อรู้สึกหิว อยากหาอะไรกิน ให้เช็คร่างกายตัวเองก่อน ว่ากำลังจะกินเพราะหิว หรือ กินเพราะเหงา


📌 อย่ารู้สึกผิดกับการกิน และอย่ารู้สึกผิดกับความเหงา หรือความรู้สึกเชิงลบในใจ เพราะอาการเหงาใจ เหงาปากนี้ เกิดขึ้นได้กับทุกคน


📌 จัดหาขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพไว้ใกล้มือยามเหงาปาก เช่น ผลไม้ ถั่วอบไม่ทอดไม่ปรุงรสจัด เมล็ดฟักทองอบ ถั่วแระญี่ปุ่น ป๊อปคอร์น (แบบใช้ข้าวโพดดิบมาอบเอง ไม่ปรุงรสจัด)


📌 ถ้าชอบเคี้ยวอะไรเพลินๆขณะทำงาน อาจเคี้ยวเป็นหมากฝรั่งแบบปราศจากน้ำตาลแทนกินขนม (แต่มีข้อเสียคือ เคี้ยวหมากฝรั่งมากไป อาจทำให้กล้ามเนื้อกรามแข็งแรงจนกรามดูใหญ่ขึ้นได้ในบางคน)


📌 แปรงฟันหลังมื้ออาหาร พบว่าการแปรงฟันจะช่วยลดความรู้สึกอยากกินจุบจิบลงได้


📌 หากิจกรรมทำในช่วงเวลาที่มักจะเหงา โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อยู่กับธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า หรือได้ตากแดดอ่อนๆบ้าง จะส่งผลดีต่ออารมณ์


📌 อย่านอนดึก เพราะคุชิซาบิชี่นี้ชอบที่จะจู่โจมยามดึก นอนหนีความเหงาแต่หัวค่ำจะช่วยบรรเทาอาการได้


📌 ถ้าความเหงานั้นมากับความซึมเศร้า หรือ รู้สึกผิดกับตัวเองมากๆเมื่อกินไป อาจพิจารณาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อประเมินความรุนแรง และรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป


สุดท้ายแล้ว การแก้อาการเหงาปากด้วยการกินนั้น เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุ ต้องแก้ไขความเหงาในหัวใจให้เบาลง เวลาอยากกินเพราะเหงาก็ท่องไว้นะคะ ลำโพงอาจเสียงดัง ลำพังอาจเหงาใจ กินมากไปลำบากพุง! 😆 หมอขอเป็นกำลังใจให้คนเหงาทุกคนนะคะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

www.twitter.com/thidakarn

www.instagram.com/thidakarn


Ref: https://kokumura.medium.com/the-best-thing-you-can-do-after-you-eat-too-much-d0db6265609


bottom of page