top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

ลดน้ำหนัก ไม่ใช่การคำนวณแคลอรี่ World Obesity Day

หนึ่งในความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่หมอได้ยินบ่อยมากคือ

ลดน้ำหนัก คือการคำนวณแคลอรี่เข้าออก ถ้าออกมากกว่าเข้าได้ ก็ผอมละ!


ในความเป็นจริงแล้ว เมื่ออาหารแต่ละชนิดผ่านเข้าสู่ร่างกาย พลังงานที่ได้รับเป็นเพียงผลด้านหนึ่ง แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างเกิดขึ้น โดยมีด้านหลักคือ ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งคอยส่งสัญญาณบอกสมองให้รู้สึกอิ่ม พบว่าฮอร์โมนทั้งสองนี้ตอบสนองต่ออาหารแต่ละอย่างต่างกันไป

แคลอรี่ต่อวัน

อีกปัจจัยหนึ่งคือประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ พบว่าประเภทของอาหารที่เรากินสัมพันธ์กับความหลากหลายของสายพันธุ์แบคทีเรีย ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารและน้ำหนักตัว


ถ้าเราเข้าใจว่า การเพิ่มของน้ำหนักตัวเป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณแคลอรี่ที่เข้าหรือออก เราจะเข้าใจอีกหลายประเด็นที่ตามมา


ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

  • การตะบี้ตะบันอดอาหาร โดยไม่สนใจประเภทของอาหารเลย ไม่ใช่คำตอบของการลดน้ำหนักที่ถาวร

  • บางคนกินไม่น้อย แต่ไม่อ้วน ไม่ใช่แค่ผลจากพันธุกรรม แต่สัมพันธ์กับประเภทอาหารที่กินด้วย

  • การออกกำลังกายอย่างเดียว โดยไม่คุมอาหารเลย มักไม่ช่วยให้น้ำหนักลด

  • ไดเอทสุดโต่งแบบไม่กินคาร์บเลย หรือไม่กินไขมันเลย ไม่ใช่คำตอบเพื่อสุขภาพในระยะยาว แต่การรู้จักเลือกกิน แป้งเชิงซ้อน โปรตีนดี ไขมันดี คือไดเอทแบบทางสายกลางที่ยั่งยืนกว่า

สำหรับคนที่เคยล้มเหลวกับการลดน้ำหนักแบบเน้นอดอาหาร ลองปรับความเข้าใจเสียใหม่ อดทนเรียนรู้การกินอย่างถูกวิธี มีวินัยกับการออกกำลังกาย และทำให้เป็นไลฟ์สไตล์ของเราให้ได้ ไม่ใช่แค่เข้าคอร์สเป็นช่วงๆ หมอเป็นกำลังใจให้นะคะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


Ref.

1. T. D. Spector, The diet myth: the real science behind what we eat. London: Weidenfeld & Nicolson, 2016.

2. Ludwig DS, Friedman MI. Increasing Adiposity Consequence or Cause of Overeating?. JAMA. 2014;311(21):2167–2168. doi:10.1001/jama.2014.4133

3. Kelly, Aaron S. "Debunking the myth: exercise is an effective weight loss treatment." Exercise and sport sciences reviews 43.1 (2015): 2.

bottom of page