top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย ถ้าน้ำหนักไต่ขึ้นทุกปี

สำหรับคุณผู้อ่านที่เลยวัยรุ่นมาแล้ว ยังจำน้ำหนักตัวเองเมื่อสมัยวัยรุ่นได้มั้ยคะ

ใครยังน้ำหนักเท่าเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไม่ถึง 2.5 กิโลกรัมบ้าง?

ถ้าคำตอบคือใช่ หมอขอแสดงความยินดีด้วยเลยค่ะ!


ปกติแล้วคนเราเมื่ออายุเริ่มขึ้นหลักสาม น้ำหนักจะขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.5-1 กิโลกรัม จากปัจจัยหลายๆด้าน ทั้งการเผาผลาญที่ลดลง มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง รวมถึงเวลาในการออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดลง หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การไต่เพิ่มขึ้นของน้ำหนักทีละน้อยในวัยกลางคนนี้ จะส่งผลถึงสุขภาพที่แย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น


หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจมาจากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันราว หนึ่งแสนสองหมื่นคน โดยนักวิจัยได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างตอนอายุ 55 ปี และถามย้อนถึงน้ำหนักในวัยรุ่น (อายุ 18 ปีสำหรับผู้หญิง และ 21 ปีสำหรับผู้ชาย) เพื่อดูว่าเป็นกลุ่มที่น้ำหนักคงที่ (เพิ่มหรือลดจากวัยรุ่นไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม) หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น (เกินกว่า 2.5 กิโลกรัม) แล้วตามดูสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดต่อไปอีกเป็นเวลา 15-18 ปี เพื่อประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับสุขภาพของคนสองกลุ่ม


ผลวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่น้ำหนักคงที่ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน มีอัตราการเกิดโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ มะเร็งที่สัมพันธ์กับความอ้วน (เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี รังไข่ ฯลฯ) น้อยกว่าคนที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากวัยรุ่นอย่างมีนัยยะสำคัญ


นอกจากการที่น้ำหนักเพิ่มจะส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคแล้ว ยังส่งผลถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายด้วย โดยมีการประเมินวัดสภาพว่ากลุ่มตัวอย่าง มีความถดถอยทางการทำงานของสมองและความฟิตของร่างกายหรือไม่ พบว่ากลุ่มที่น้ำหนักตัวเพิ่ม มีแนวโน้มจะถดถอย (หรือพูดง่ายๆว่าแก่) มากกว่ากลุ่มที่น้ำหนักตัวคงที่


สรุปได้ว่า การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ถ้าทำได้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ชะลอความแก่ และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆได้ ส่วนคนที่น้ำหนักยังคงไต่ขึ้นอย่างคงที่เช่นกันทุกปี หมอขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ค่อยๆปรับอาหารอย่างถูกวิธี เน้นทานแป้งเชิงซ้อน โปรตีนดี ไขมันดี ผักผลไม้ เลี่ยงน้ำตาล แป้งขัดขาว ของทอด และเนื้อแปรรูป หมั่นออกกำลังทั้งแบบแอโรบิกและสร้างกล้ามเนื้อ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด แล้วเราจะ YOUNG ไม่แก่ไปด้วยกันค่ะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


อ้างอิง

Zheng, Yan, et al. "Associations of weight gain from early to middle adulthood with major health outcomes later in life." Jama 318.3 (2017): 255-269.

bottom of page