นอกจากการใช้เงินกับตัวเองแล้ว พบว่าคนที่รู้จักใช้เงินกับคนอื่น มอบของขวัญให้คนที่รัก หรือบริจาคเพื่อการกุศลเป็นประจำจะมีความสุขมากกว่าใช้เงินแต่กับตัวเอง
จุดอิ่มตัวของรายได้ที่ความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,878,660-2,348,325 บาทต่อปี
มีงานวิจัยพบว่าการใช้เงินซื้อประสบการณ์ส่งผลให้เกิดความสุขที่ยืนยาวมากกว่าใช้เงินซื้อวัตถุ เพราะประสบการณ์อย่างการท่องเที่ยว จะถูกแปรสภาพเป็นความทรงจำ ซึ่งยังก่อให้เกิดความสุขทุกครั้งที่ย้อนนึกถึง คล้ายๆ ฝากประจำแล้วกินดอกเบี้ยไปเรื่อย
เราอยู่ในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคม มีความฝันร่วมกันคือ อยากจะ ‘ลาออกครั้งสุดท้าย’ เพื่อทำธุรกิจให้มีรายได้ในระดับ ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ และใช้ชีวิตราวกับ ‘ทุกวันคือวันหยุด’ เพราะเราเชื่อว่า ความสำเร็จและการมีอิสรภาพทางการเงิน คือสูตรสำเร็จของความสุข แต่เงินซื้อความสุขได้…จริงหรือ?
เพราะการศึกษาความสุขเป็นเรื่องน่าสนุก จึงมีนักวิจัยหลายคนที่พยายามถอดรหัสความสุข หนึ่งในนั้นคือ ชอว์น เอเคอร์ (Shawn Achor) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของผลงานหนังสือดัง The Happiness Advantage ชอว์นศึกษาเกี่ยวกับความสุขและความสำเร็จในชีวิต และเขาพบว่าคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ความสำเร็จในชีวิตจะนำมาซึ่งความสุข เช่น ถ้าเราสอบติดคณะที่อยากเรียน เราจะมีความสุข หรือถ้าเราได้เลื่อนตำแหน่งในปีนี้ เราจะมีความสุข ซึ่งชอว์นเห็นว่า สมมติฐานนี้ผิด!
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จที่เราคาดหวังไว้นั้น จะนำพาความสุขมาให้เราดื่มด่ำแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และตามธรรมชาติของมนุษย์ เราจะเริ่มคุ้นชินกับความสำเร็จนั้นๆ ส่งผลให้ระดับของความสุขเจือจางลง จนเราต้องมองหาความสำเร็จใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสุขให้กับตัวเองอีกครั้ง
ชอว์นเชื่อว่าเราควรตั้งสมการเสียใหม่ โดยให้ความสุขในตัวเราเป็นสารตั้งต้น หากเรารู้จักที่จะสุขกับเหตุการณ์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ตื่นเช้ามาก็สุขกับการดูแลตัวเอง ระหว่างวันก็รู้จักที่จะสุขและสนุกกับปัญหาที่ผ่านเข้ามา ก่อนนอนก็สุขกับการนึกถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ความสุขจะเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต
อีกงานวิจัยในเรื่องความสุขกับเงินซึ่งชวนให้คิดต่อในหลายแง่มุม เป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Human Behaviour โดยนักวิจัยได้ตั้งคำถามกับกลุ่มตัวอย่าง 1.7 ล้านคน จาก 164 ประเทศทั่วโลก เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘Life satisfaction’ และ ‘Sense of well-being’ กับรายได้
ผลวิจัยพบว่าความพึงพอใจในชีวิตและความรู้สึกว่าชีวิตดีนั้นแปรผันตรงตามรายได้จริง นั่นคือยิ่งรายได้มาก ก็ยิ่งมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง ดีกรีความสุขกลับไม่ขึ้นตามไปด้วย และอาจหักหัวลงในบางกรณี หรือพูดง่ายๆ คือ เมื่อรวยถึงจุดหนึ่ง ความสุขอาจถึงจุดอิ่มตัว จนรวยไปกว่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้สุขเพิ่มขึ้นแล้ว!
โดยจุดอิ่มตัวของรายได้ที่ความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป ต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000-75,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 1,878,660-2,348,325 บาทต่อปี)
อย่าปล่อยให้ตัวเลขเจ็ดหลักทำให้คุณตกใจ งานวิจัยนี้ไม่ได้จะบอกว่า คุณต้องมีรายได้ถึงหนึ่งล้านแปดแสนต่อปีถึงจะมีความสุข แต่ประเด็นที่งานวิจัยนี้กำลังจะบอกคือ ความสุขแปรผันตามรายได้จนกระทั่งจุดที่รายได้ของคุณไต่ไปถึงราวๆ สองล้านต่อปี ความสุขอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอีก ด้วยงานที่จะทำให้คุณมีรายได้มากขนาดนั้น มักจะมีความเครียดสูง ใช้เวลาทำงานมาก จนความสมดุลในชีวิตด้านอื่นๆ หายไป
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเป็นผลทางสถิติที่มาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าสมมติฐานนี้จะเป็นจริงกับทุกคน เพราะ ‘ความสุข’ นั้นเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน บางคนอาจพบกับความสุขง่ายๆ ได้ โดยไม่ต้องมีรายได้มหาศาล และในทางกลับกัน บางคนก็อาจมีรายได้หลายล้านต่อปี โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่างานเครียด และยังรักษาสมดุลความสุขในชีวิตไว้ได้ด้วย
นอกจากเรื่องปริมาณเม็ดเงินกับความสุขแล้ว ในเรื่องของวิธีการใช้เงินกับความสุขก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มีงานวิจัยพบว่าการใช้เงินซื้อประสบการณ์ ส่งผลให้เกิดความสุขที่ยืนยาวมากกว่าใช้เงินซื้อวัตถุ เพราะประสบการณ์อย่างการท่องเที่ยว จะถูกแปรสภาพเป็นความทรงจำ ซึ่งยังก่อให้เกิดความสุขทุกครั้งที่ย้อนนึกถึง (คล้ายๆ ฝากประจำแล้วกินดอกเบี้ยไปเรื่อย) ในขณะที่วัตถุ เช่น นาฬิกาแพงๆ อาจก่อให้เกิดความสุขในช่วงแรกที่สวมใส่ แต่เมื่อใส่ไปสักพัก ความคุ้นชินจะเริ่มแทนที่ จนกราฟความสุขลดลงตามเวลาที่ผ่านไป จนต้องมองหานาฬิกาเรือนใหม่ๆมาเติมความสุขอีกครั้ง (ซึ่งหากมีมากเรือนจนเกินไป อาจก่อให้เกิดทุกข์ได้ในบางกรณี) อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการใช้เงินคือ นอกจากการใช้เงินกับตัวเองแล้ว พบว่าคนที่รู้จักใช้เงินกับคนอื่น มอบของขวัญให้คนที่รัก หรือบริจาคเพื่อการกุศลเป็นประจำจะมีความสุขมากกว่าใช้เงินแต่กับตัวเอง ในโลกที่เรายังต้องใช้เงินซื้อหาอาหาร บ้าน เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การมีเงินจึงตอบโจทย์ความเป็นอยู่ได้ในระดับพื้นฐาน แต่เมื่อมีรายได้มากถึงระดับหนึ่งแล้ว การออกหาประสบการณ์ดีๆ ให้กับชีวิตในแบบที่ชอบ การรู้จักแบ่งปันเพื่อการกุศล และแบ่งเวลาไปสร้างสมดุลชีวิตในด้านอื่นๆ อาจเป็นตัวเลือกที่เพิ่มดัชนีความสุข ได้มากกว่าการก้มหน้าก้มตาหาเงินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Photos: Shutter Stock
อ้างอิง:
Achor, Shawn. The happiness advantage: The seven principles of positive psychology that fuel success and performance at work. Random House, 2011.
Jebb, Andrew T., et al. “Happiness, income satiation and turning points around the world.” Nature Human Behaviour 2.1 (2018): 33.
Dunn, Elizabeth W., Daniel T. Gilbert, and Timothy D. Wilson. “If money doesn’t make you happy, then you probably aren’t spending it right.” Journal of Consumer Psychology 21.2 (2011): 115-125.
Dunn, Elizabeth W., Lara B. Aknin, and Michael I. Norton. “Spending money on others promotes happiness.” Science319.5870 (2008): 1687-1688.
Comments