top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Health Wake-up call อย่ารอให้พังก่อนตื่น


  • Wake-up call ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโดนโทรปลุก แต่หมายถึงเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตที่ปลุกให้คิดว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือยัง

  • เมื่อตรวจสุขภาพเจอความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ตรวจมานาน เจอความผิดปกติที่เพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรง และมีปัจจัยกระตุ้นทางครอบครัว เช่น มีลูกยังเล็กที่ต้องเลี้ยงดู ก็จะเป็น Wake-up call ที่ปลุกได้เสียงดังไม่น้อย

  • หรือเมื่อครอบครัวใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทป่วยด้วยโรคร้ายหรือเสียชีวิตกะทันหัน Wake-up call ประเภทนี้เปรียบเสมือนนาฬิกาปลุกยุคโบราณที่เสียงดังแสบแก้วหูจนต้องสะดุ้งตื่น และหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเรากำลังละเลยการดูแลสุขภาพเกินไป จนอาจเดินตามรอยเพื่อนหรือไม่

หมอมีความสุขกับการให้คำปรึกษาคนไข้ว่าจะปรับไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพอย่างไร หากถามว่า ตลอดสิบกว่าปีที่ทำงานด้านนี้มา เหตุผลอะไรที่จุดประกายให้คนคนหนึ่งอยากหันมาดูแลสุขภาพ ตอบได้เลยค่ะว่า คนส่วนใหญ่คิดจะลุกมาปรับวิถีการกินอยู่ของตัวเองก็ต่อเมื่อมี Wake-up call

Wake-up call ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงโดนโทรปลุกนะคะ แต่หมายถึงเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตที่ปลุกให้คิดว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือยัง โดยเหตุการณ์ที่ปลุกให้ลุกมาดูแลสุขภาพนั้น จะแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่

หนึ่งคือเมื่อตรวจสุขภาพเจอความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ตรวจมานาน เจอความผิดปกติที่เพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรง และมีปัจจัยกระตุ้นทางครอบครัว เช่น มีลูกยังเล็กที่ต้องเลี้ยงดู ก็จะเป็น Wake-up call ที่ปลุกได้เสียงดังไม่น้อย

กรณีที่สองคือเมื่อครอบครัวใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทป่วยด้วยโรคร้ายหรือเสียชีวิตกะทันหัน Wake-up call ประเภทนี้เปรียบเสมือนนาฬิกาปลุกยุคโบราณที่เสียงดังแสบแก้วหูจนต้องสะดุ้งตื่น และหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเรากำลังละเลยการดูแลสุขภาพเกินไป จนอาจเดินตามรอยเพื่อนหรือไม่


Wake-up call ในแบบสุดท้าย เป็นเสียงนาฬิกาที่ไม่ดังนัก แต่กวนใจจนไม่สามารถทำให้หลับต่อไปได้ เป็นกลุ่มคนที่อยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพหลังจากผ่านการเจ็บป่วยรุนแรงมาแล้ว เช่น หลังฟื้นตัวจากมะเร็ง หลังการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ

แล้วทำไมคนเราจึงมักรอให้มี Wake-up call บางอย่าง จึงจะลุกมาดูแลสุขภาพ ทั้งที่ร่างกายเรามีเพียงหนึ่ง ซ่อมก็ยาก อะไหล่ก็ไม่ได้หาเปลี่ยนกันง่ายๆ เหตุใดจึงไม่ตื่นก่อนที่จะถูกปลุก

ส่วนตัวหมอคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ โรคที่คร่าชีวิตคนในปัจจุบันคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs นั้น เป็นกลุ่มโรคที่พฤติกรรมเหมือนระเบิดเวลา คือเริ่มต้นแบบซุ่มเงียบ ไม่มีอาการ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เกิดขึ้นในร่างกายแบบสะสมเป็นเวลานาน โดยมีกลไกการอักเสบในระดับโมเลกุลเป็นกลไกหลัก และมีไลฟ์สไตล์อย่าง การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลัง นอนไม่พอเรื้อรัง ความเครียด บุหรี่ สุรา เป็นตัวขับเคลื่อน


โรคอย่างความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ รวมถึงมะเร็งต่างๆ นั้น ล้วนไม่มีอาการในระยะแรกของโรค กว่าจะมีอาการก็คือระยะที่ระเบิดเวลาได้พร้อมจะระเบิดตูมออกมาเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว

อีกหนึ่ง Wake-up call ที่จัดได้ว่าเป็นการปลุกใหญ่ทั่วโลกคือ วิกฤตการณ์โควิด แม้ข้อมูลสถิติต่างๆ จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศทั่วโลก แต่ข้อมูลหนึ่งซึ่งเหมือนกันทุกที่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่กระจ่างชัดคือ โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อ โดยเฉพาะในคนอายุน้อย ที่จริงๆ แล้วอัตราการเสียชีวิตไม่สูงนัก แต่หากมีโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะทะยานขึ้นทันที


ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 70% ของประชากรจัดว่าน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ และหนึ่งในสามของประชากรเป็นโรคอ้วน พบว่าปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อการติดโควิดแล้วเสียชีวิตคือ อายุมาก ตามมาด้วยโรคอ้วน จึงมีการตื่นตัวมากขึ้นถึงระเบิดเวลาทางสุขภาพระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ในไทยเรายังไม่เห็นการตื่นตัวออกนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมนักจากรัฐบาล แต่สำหรับคนที่อยากตื่นด้วยตัวเอง ก่อนจะถูกปลุกด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ข้อแนะนำที่หมอขอฝากให้ ได้แก่

  • ประเมินตัวเองเบื้องต้นด้วยการชั่งน้ำหนัก คำนวณดัชนีมวลกาย วัดรอบเอว หากดัชนีมวลกายเกินกว่า 25 หรือเส้นรอบเอวเกินกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย หรือเกินกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง คุณควรจะลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงจังเพื่อลดน้ำหนัก หยุดการทำงานของระเบิดเวลาที่ติ๊กต็อกอยู่ในร่างกาย

  • หาเวลาไปตรวจสุขภาพ แบบได้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และตรวจเพิ่มเติมตามวัย อย่าอายถ้าจะต้องตรวจภายใน อย่ากลัวเจ็บถ้าจะต้องถูกบีบหน้าอกเพื่อตรวจแมมโมแกรม และอย่าคิดว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ยุ่งยากเกินจำเป็น แต่ให้คิดว่าการตรวจเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องตรวจจับระเบิด ที่จะเข้าไปจัดการกับระเบิดเวลาในตัวเราก่อนจะสายเกินแก้

  • นอกจากการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพแล้ว อีกหนึ่งข้อที่ควรปรึกษาด้วยคือ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ตามเกณฑ์อายุ

  • หากในครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็ง โรคหัวใจวายเฉียบพลันตั้งแต่อายุน้อย หรือโรคอื่นๆ ที่อาจส่งต่อกันทางพันธุกรรมได้ อาจทำการบ้านเขียนแผนผัง Family Tree เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้แพทย์ได้พิจารณาการตรวจเพิ่มเติมตามเหมาะสม

  • ศึกษาหาข้อมูลการดูแลสุขภาพที่ถูกวิธี การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การดูแลสุขภาพไม่มีทางลัด และไม่มีวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ ที่ทดแทนการกินอาหารจริงที่ดีต่อสุขภาพได้

การเริ่มต้นดูแลสุขภาพไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ ไม่ว่าคุณจะเคยถูกปลุกด้วย Wake-up call มาแล้ว ยังไม่เคยถูกปลุก หรือเคยตื่นแล้วและหลับต่ออีกรอบแล้ว ก็ตื่นขึ้นมาใหม่อีกครั้งพร้อมกันได้

ขอให้บทความนี้เป็นอีกหนึ่ง Wake-up call ที่ส่งเสียงปลุกให้คุณอยากหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เป็นเสียงปลุกที่อ่อนโยนไม่ดังแสบแก้วหู แต่ดังพอที่จะทำให้ตื่น และอย่าเผลอกด Snooze นอนต่ออีกรอบนะคะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

bottom of page